

สาส์นฉบับนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายงานประจำปีที่ บริษัท สุธากัญจน์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยข้อมูลทางการเงินและการดำเนินงานที่เกิดจริงเพื่อเผยแพร่ตามหน้าที่ในฐานะของบริษัทมหาชน ตามข้อบังคับตลาดหลักทรัพย์ซึ่งบริษัทได้มีการเผยแพร่ในรายไตรมาส และรวบรวบเสนอผลการดำเนินทั้งปี อย่างไรก็ตาม รายงานประจำปีมิได้เป็นเพียงการสื่อสารข้อมูลที่กำหนดไว้ตามกฎระเบียบของตลาดหลักทรัพย์เท่านั้น แต่ถือเป็นการแสดงถึงความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่ยิ่งขึ้น ด้วยเชื่อว่านอกเหนือจากข้อมูลและตัวเลขที่จำเป็นแล้ว เราควรนำเสนอมุมมองและความเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับธุรกิจที่ท่านร่วมเป็นเจ้าของ พร้อมกับแนวคิดและความคิดเห็นจากคณะกรรมการและฝ่ายบริหารในเรื่องต่างๆ ของบริษัท เพื่อสื่อสารกับผู้ถือหุ้นตามมุมมองของผู้ถือหุ้นที่คาดหวังว่าจะได้รับการสื่อสารในลักษณะเดียวกันนี้ นั่นคือ หากท่านเป็นผู้บริหารของ บริษัท สุธากัญจน์ จำกัด (มหาชน) และเราเป็นผู้ถือหุ้นที่ไว้วางใจให้ท่านดูแลเงินลงทุนของเราในบริษัท เรามองว่าแนวทางนี้จะทำให้เราสามารถชี้แจงทั้งการพัฒนาในด้านบวกและด้านลบของธุรกิจที่ท่านร่วมเป็นเจ้าของผ่าน บริษัท สุธากัญจน์ จำกัด (มหาชน) ได้อย่างโปร่งใสและครบถ้วน เราเชื่อว่าแนวทางนี้เป็นวิธีเดียวที่จะทำให้มั่นใจได้ว่าท่านจะได้รับข้อมูลที่สมบูรณ์ ซึ่งประกอบไปด้วยข้อเท็จจริง ตัวเลข แนวโน้ม และมุมมองที่ท่านมีสิทธิ์รับทราบ เพื่อใช้ในการประเมินสถานะปัจจุบันของการลงทุนของท่าน ซึ่งเป็นจุดประสงค์หลักของรายงานประจำปีนี้
เริ่มต้นด้วยการสำรวจรายธุรกิจของกลุ่ม บริษัท สุธากัญจน์ จำกัด (มหาชน) กับ บริษัทย่อย ได้แก่ บริษัท หินอ่อน จำกัด และ บริษัท โกลเด้นไลม์ เอนจิเนียริ่ง จำกัด
ธุรกิจปูนขาว ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์หลักที่ บมจ.สุธากัญจน์ ผลิตจากการเผาหินปูนที่ได้จากเหมืองหิน เขาขาว ของ บจ.หินอ่อน ถือเป็นธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดของบริษัท สุธากัญจน์ จำกัด (มหาชน) โดยมีสัดส่วน 70% ของรายได้รวมและ 67% ของ EBITDA ในปีที่ผ่านมา เราผลิตปูนขาวได้จำนวน 250,000 ตัน ซึ่งจำหน่ายในตลาดภายในประเทศเป็นหลัก และมีการส่งออกบางส่วนไปยังไต้หวัน อินโดนีเซีย ลาว และบังคลาเทศ ปริมาณการผลิตอยู่ภายใต้แรงกดดันตลอดทั้งปี โดยกลุ่มตลาดเหล็ก ซึ่งเป็นกลุ่มหลักของปูนขาว ยังคงอ่อนแอในปี 2567 เนื่องจากผู้ผลิตเหล็กในประเทศไทยต้องเผชิญกับการแข่งขันจากการนำเข้า รวมถึงการแข่งขันจากเหล็กคุณภาพต่ำที่ผลิตในเตาเหนี่ยวนำในประเทศ สำหรับการปรับปรุงสถานการณ์ในอนาคต เรามองว่ามีความเป็นไปได้ในกรณีที่หน่วยงานกำกับดูแลในประเทศไทยดำเนินการอย่างเด็ดขาดเพื่อหยุดการใช้เหล็กคุณภาพต่ำในอุตสาหกรรมการก่อสร้าง หรือหากมีการกำหนดมาตรการที่เหมาะสมเพื่อปกป้องผู้ผลิตในประเทศจากการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมจากการนำเข้า อุตสาหกรรมเคมีของเราทำผลงานได้ดีและคาดว่าจะยังคงเติบโตต่อไป เนื่องจากบริษัทต่างชาติสนใจที่จะลงทุนในประเทศไทยเพื่อเป็นฐานการผลิตสารเคมีอินทรีย์ ส่วนตลาดน้ำตาลก็มีการปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน แต่ยังคงต่ำกว่าระดับสูงสุดในปี 2561/2562 กลุ่มตลาดการก่อสร้างมีผลงานที่ดีในช่วงครึ่งปีแรก แต่มีสัญญาณของการชะลอตัวในครึ่งปีหลัง การส่งออกอยู่ในระดับที่พอสมควรแต่ไม่โดดเด่นนัก เนื่องจากปัญหาด้านค่าขนส่งและการแข็งค่าของเงินบาท ซึ่งทำให้ผลิตภัณฑ์จากประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันลดลงเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์จากมาเลเซียและตะวันออกกลาง
ธุรกิจโดไลม์ ซึ่ง บมจ.สุธากัญจน์ ได้เริ่มนำโดโลไมต์มาเผามาใช้เมื่อ 5 ปีที่แล้ว โดยใช้วัตถุดิบจากเหมืองหินภายนอก 3 แห่ง ได้รับความนิยมในกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กและทดแทนแมกนีเซียมที่นำเข้า ผลิตภัณฑ์นี้มีผลการดำเนินงานที่ต่ำกว่าคาดในปีที่ผ่านมา โดยมียอดขายอยู่ที่ต่ำกว่า 35 กิโลตัน เชื่อมโยงกับผลการดำเนินงานในกลุ่มเหล็ก โดยธุรกิจนี้มีสัดส่วน 10% ของรายได้ของ บมจ. สุธากัญจน์ และ 9% ของ EBITDA และยังมีโอกาสในการเติบโตต่อไปจากการส่งออก หรือหากกลุ่มเหล็กในประเทศฟื้นตัว รวมถึงการเข้าสู่ตลาดปุ๋ยแมกนีเซียมสำหรับการเกษตร
ธุรกิจแคลเซียมคาร์บอเนต ซึ่งผลิตจากแคลไซต์และหินอ่อน มีทั้งผลิตภัณฑ์ที่ระดับคุณภาพสูงและคุณภาพปานกลาง ผลิตภัณฑ์จากแร่แคลไซด์ซึ่งผลิตเป็นแคลเซียมคาร์บอเนตคุณภาพสูงโดยกำลังการผลิตขนาดย่อมสัดส่วน 1 % ของรายได้ และสร้าง EBIDA 1% และแคลเซียมคาร์บอเนตคุณภาพปานกลางผลิตจากวัตถุดิบเหมืองหินเขางอบของ บจ. หินอ่อน ได้รับการตอบรับที่ดีขึ้นและมีสัดส่วน 6% ของรายได้ และสร้าง EBITDA 7% ด้วยการที่เหมืองหินของ บจ.หินอ่อน มีแหล่งวัตถุดิบที่เหนือกว่าคู่แข่งที่ใช้หินปูน จึงทำให้เราเห็นศักยภาพในการพัฒนาและเติบโตของธุรกิจ 2568
ธุรกิจหินคลุกจากเหมืองหินเขาขาวของบจ.หินอ่อน ซึ่งใช้สำหรับการก่อสร้างถนน การกำจัดซัลเฟอร์จากก๊าซไอเสีย และการผลิตคอนกรีต คิดเป็น 4% ของรายได้ของบมจ. สุธากัญจน์ แต่ส่งผลต่อ EBITDA เพียงเล็กน้อย เนื่องจากเป็นผลพลอยได้จากการผลิตหินสำหรับเตาเผา ซึ่งคิดเป็น 6% ของ EBITDA รวม
ธุรกิจเศษหินอ่อน ซึ่งเป็นธุรกิจใหม่ของบจ.หินอ่อน ที่เริ่มต้นเมื่อสองปีที่แล้ว ได้พัฒนาเป็นการค้าขนาดเล็กแต่สามารถสร้างกำไร โดยมีรายได้ 0.5% และสร้าง EBITDA 1%
ธุรกิจหินประดับหินอ่อน ซึ่งเป็นธุรกิจดั้งเดิมของบจ. หินอ่อน ที่มีประวัติยาวนานกว่า 60 ปี เป็นธุรกิจที่มั่นคงและมีสัดส่วน 8.5% ของรายได้ และ 9% ของ EBITDA ของ บมจ.สุธากัญจน์ เมื่อปีที่ผ่านมา ธุรกิจหินประดับหินอ่อนเป็นธุรกิจดั้งเดิม ที่สืบทอดประเพณีการออกแบบสถาปัตยกรรมไทยมายาวนานกว่า 60 ปี ถือเป็นฐานธุรกิจที่สร้างความมั่นคงให้กับบมจ. สุธากัญจน์ จำกัด โดยในปีที่ผ่านมาการผลิตใช้วัตถุดิบจากภายในประเทศ โดยอาศัยเหมืองหินเขางอบ ซึ่งเป็นเหมืองหินอ่อนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยมีผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปจากการผลิตภายในประเทศมีมูลค่ากว่า 76 ล้านบาท รวมทั้งผลิตภัณฑ์หินอ่อนนำเข้า บริการติดตั้ง และงานหัตถกรรม ซึ่งมีมูลค่ารวมประมาณ 50 ล้านบาท
การเปิดเผยผลการดำเนินงานบริษัท สุธากัญจน์ จำกัด (มหาชน)
ผลการดำเนินงานรวมของบมจ. สุธากัญจน์ ในปี 2567 เป็นผลการผสมผสานจากหลายธุรกิจ โดยมีผลการดำเนินงานของธุรกิจปูนขาวที่สำคัญเป็นปัจจัยหลัก ส่งผลให้ผลการดำเนินงานโดยรวมมีลักษณะดังนี้:ในปี 2567 บริษัทมีรายได้จากการขายและบริการรวมจำนวน 1,355 ล้านบาท ซึ่งลดลงจาก 1,428 ล้านบาทในปี 2566 และ 1,478 ล้านบาทในปี2565 แต่ยังคงสูงกว่ารายได้ 1,186 ล้านบาทในปี 2564 และปีที่ผ่านมา ผลกำไรจากการดำเนินงานของบริษัทก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ในปี 2567อยู่ที่ 243 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 226 ล้านบาทในปี 2566 และ 227 ล้านบาทในปี 2565 ขณะที่ EBITDA ที่ปรับรายการพิเศษแล้วอยู่ที่ 247 ล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับผลการดำเนินงานของปี 2566 ที่ 251 ล้านบาท และสูงกว่าปี 2565 ที่ 228 ล้านบาท กำไรสุทธิตามงบการเงินในปี 2567อยู่ที่ 62 ล้านบาท ซึ่งแสดงถึงการปรับตัวที่ดีขึ้นจาก 46 ล้านบาทในปี 2566 แต่ต่ำกว่า 89 ล้านบาทในปี 2565 กำไรสุทธิซึ่งไม่รวมรายการพิเศษอยู่ที่ 81 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อยจาก 87 ล้านบาทในปี 2566และสูงกว่าปี 2565 ที่ 58 ล้านบาท
การคาดการณ์ในปี 2025 และอนาคต
ฝ่ายบริหารให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในกลุ่มที่มีการเติบโตและมุ่งเน้นความเป็นเลิศในการดำเนินงานด้านคุณภาพผลิตภัณฑ์และการควบคุมต้นทุน การก่อตั้งโรงงานอุตสาหกรรมกระดาษแห่งใหม่ของธุรกิจเยื่อกระดาษของกลุ่มลุกค้าซึ่งตั้งอยู่ใกล้เคียงโรงงานปูนขาวที่ใหญ่ที่สุดของเรา รวมถึงการเปิดตัวโรงงานไบโอพลาสติกแห่งใหม่ของกลุ่มลุกค้า และการพัฒนาในกลุ่มผลิตภัณฑ์ปูนซีเมนต์ผสมที่ไม่ใช่เหล็กและปูนซีเมนต์ผสมสำหรับการก่อสร้าง ทั้งหมดนี้บริษัทคาดว่าจะส่งผลต่อโอกาสทางธุรกิจใหม่ในกลุ่มปูนขาวเชิงบวกในปี 2568
การคาดการณ์กลุ่มในกลุ่มตลาดเหล็ก น้ำตาล สำหรับผลิตภัณฑ์ปูนขาว รวมถึงผลิตภัณฑ์โดไลม์ในประเทศยังคงอยู่ในภาวะอ่อนแอ การพิจารณาเพิ่มกำลังการผลิต(เตาเผา) ในขั้นต้น ยังไม่ได้รับการตัดสินว่าเป็นทางเลือกที่เหมาะสมที่สุดในขณะนี้ ดังนั้น การเพิ่มทุนในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2566 จำนวน 90 ล้านบาท เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตของเตาเผาที่ 8 จึงปรับเปลี่ยนเป็นการเพิ่มกำลังการผลิตในกระบวนการไฮเดรชั่น การโม่ และกำลังการบรรจุแทน เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าใหม่ในการพิจารณาใช้จ่ายเงินทุนของบริษัท นอกจากนี้ ในปี 2568 บริษัทจะมีกำลังการผลิตใหม่สำหรับกลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติก และผลิตภัณฑ์หินผสมสำหรับตลาดแคลเซียมคาร์บอเนต รวมถึงการเพิ่มกำลังการผลิตหินอ่อนในตลาดแคลเซียมคาร์บอเนต ของบจ.หินอ่อนเพื่อเสริมสร้างการเติบโตในระยะยาว
การจัดหาแหล่งวัตถุดิบในระยะยาวเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักในปี 2568 ซึ่งจะดำเนินการ นอกเหนือจากสัมปทานของเหมืองหินปูนในปี 2586 และเหมืองหินอ่อนในปี 2577 โครงสร้างการเงินของบริษัทจะเปลี่ยนแปลงจากหนี้สินเป็นทุน โดยบริษัทจะยังคงลดหนี้สินระยะยาวต่อไป และจะชำระหนี้สินระยะยาวที่เกี่ยวข้องกับการเข้าซื้อกิจการ สระบุรีปูนขาว ในเดือนมีนาคม 2568 ทำให้ภาระผูกพันจากข้อตกลงการซื้อกิจการที่มีการกู้ยืมเงิน 100% นี้เสร็จสมบูรณ์
อย่างไม่ลดละ พร้อมทั้งแสวงหาโอกาสใหม่ๆ โดยยอมรับความเสี่ยงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
ตามคำกล่าวที่ว่า 100 เปอร์เซ็นต์เป็นศัตรูของ 95 เปอร์เซ็นต์
วิสัยทัศน์ระยะยาวของเรายังคงเหมือนเดิม นั่นคือ
เราจะนำ SUTHA ไปสู่ความเป็นผู้นำด้านการผลิตปูนขาวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ด้วยการส่งมอบคุณค่าสูงสุดให้กับผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
We contribute to a better world - เราร่วมทำให้โลกดีขึ้น
ในปี 2568 นี้ เราจะพัฒนาการทำกำไรจากธุรกิจหลัก เพิ่มเติมสินค้าใหม่ มุ่งเน้นการส่งออก
เพิ่มความหลากหลายและมั่นคงทางวัตถุดิบ ผลักดันยอดขาย สร้างกำไรจากการดำเนินงาน ยกระดับกำไรสุทธิ
เรามุ่งหวังไปด้วยกันกับผู้มีส่วนได้เสียของ SUTHA เพื่อปี 2568 ที่ยอดเยี่ยม
วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2568
![]()
นายศรีภพ สารสาส
ประธานคณะกรรมการบริษัท
![]()
นายกีซ่า เอมิล เพอราคี
กรรมการผู้จัดการ และประธานคณะกรรมการบริหาร